จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

นกกาน้ำ Cormorant Shag

นกกาน้ำ (อังกฤษ: Cormorant, Shag) เป็นนกที่อยู่ในวงศ์ Phalacrocoracidae ซึ่งมีเพียงสกุลเดียว คือ Phalacrocorax
เป็นนกขนาดกลางถึงใหญ่ มีลักษณะทั่วไปคล้ายอีกา กินปลาเป็นอาหาร ส่วนมากมีขนสีดำ บางชนิดเป็นลายขาว-ดำ หรือสีสันสดใส



อาศัย อยู่บริเวณป่าชายเลน, หนอง, บึง, ทะเลสาบ และแหล่งน้ำอื่น ๆ พบทั้งหมด 38 ชนิดทั่วโลก ในประเทศไทยพบทั้งหมด 3 ชนิด คือ นกกาน้ำเล็ก (P. niger), นกกาน้ำปากยาว (P. fuscicollis) และนกกาน้ำใหญ่ (P. carbo) ชนิดที่พบได้บ่อยมาก คือ นกกาน้ำเล็ก อาหารส่วนใหญ่ของนกกาน้ำ คือ ปลาชนิดต่าง ๆ มันจะดำลงไปในน้ำเพื่อจับปลามาเป็นอาหาร แต่ขนของนกกาน้ำจะไม่มีน้ำมันเคลือบกันน้ำ
­ได้เหมือนเป็ด ดังนั้นเมื่อโผล่ขึ้นมาจากน้ำแล้ว ทุกครั้งจะกางปีกออกเพื่อผึ่งให้แห้ง



นกกาน้ำปากยาว

ชื่ออังกฤษ
    Indian Cormorant, Indian Shag

ชื่อวิทยาศาสตร์
    Phalacrocorax fuscicollis (Stephens, 1826)

วงศ์ (Family)
    Phalacrocoracidae (วงศ์นกกาน้ำ)

อันดับ (Order)
    Suliformes (อันดับนกกาน้ำ นกบู๊บบี้ และนกโจรสลัด)

สัปดาห์นี้คอลัมน์“นกป่าสัปดาห์ละตัว”ขอคงคอนเส็ปท์ซีรี่ย์“นกน้ำสัปดาห์ละตัว”ต่อ เพราะขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเวลาสำรวจประชากรนกน้ำกลางฤดูหนาว (Mid-winter Asian Waterbird Census หรือเรียกสั้นๆว่า AWC) ซึ่งจุดสำรวจต่างๆในพื้นที่อ่าวไทยตอนในถูกกำหนดให้เริ่มอย่างพร้อมเพรียงกันในวันอาทิตย์ที่ 19 ม.ค. นี้ ส่วนจุดอื่นๆอาสาสมัครสามารถเลือกวันว่างไปนับได้ตามสะดวกจนถึงสิ้นเดือน

ที่ต้องเก็บข้อมูลพร้อมกัน เพราะอ่าวไทยตอนในจัดเป็นพื้นที่สำคัญในการอนุรักษ์นก (IBA: Important Bird Area) ที่มีแหล่งอาศัยของนกน้ำอพยพมากมายหลายชนิด หลายชนิดย้ายแหล่งหากินตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ เช่น นกที่หากินตามหาดเลนจะอิงตามช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง ซึ่งมีความผันแปรพอสมควรในแต่ละวัน เพราะพวกมันจะมีที่หากินเฉพาะในช่วงน้ำลงเท่านั้น ดังนั้นการแบ่งทีมสำรวจแต่ละจุดเพื่อนับพร้อมกันในวันเดียวจึงจะนำมาซึ่งข้อมูลที่ตรงตามข้อเท็จจริงที่สุด อย่างไรก็ตาม อ่าวไทยตอนในก็ถือเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของนกน้ำกลุ่มอื่นๆนอกจากนกชายเลนด้วย สัปดาห์นี้ขอแนะนำให้รู้จัก นกกาน้ำปากยาว




ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับนกอาจจะรู้สึกฉงนกับชื่อของมัน คำว่า“กาน้ำ”ในที่นี้น่าจะมาจากการที่มันมีสีดำเหมือนกับอีกา (crows) แต่ชอบดำน้ำจับปลา ไม่เกี่ยวอะไรกับกาต้มน้ำนะครับ (ฮา) ในอดีตนกกาน้ำปากยาวมักเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Indian Shag แต่ปัจจุบันชื่อ Indian Cormorant ถูกใช้แพร่หลายกว่า ส่วนหนึ่งเพราะชื่อ Shag นั้นมาจากหงอน (crest) ของ European Shag นอกจากมีหงอนแล้ว ชนิดอื่นๆที่ถูกเรียกว่า shags นั้นมักจะพบหากินในทะเลเปิดเป็นหลัก ต่างกับ cormorants ที่พบตามแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อยด้วย




สาเหตุที่นกกาน้ำปากยาวถูกเรียกว่า shag ในตอนแรก น่าจะมาจากรูปร่างที่สะโอดสะองและปากที่เรียวยาวเหมือนเจ้า European Shag แต่หากพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย ชื่อ cormorant ดูจะเหมาะสมกว่า เพราะมันไม่มีหงอน และหากินในน้ำจืดด้วย ข้อมูลในอดีตพบว่าถิ่นอาศัยมันจำกัดอยู่เฉพาะภาคกลางตอนล่าง แต่ในระยะหลังประชากรมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น ปัจจุบันพบได้ไม่ยากทางภาคเหนือตอนล่าง น่าจะเป็นผลจากการประมงเชิงพาณิชย์ที่แพร่หลายขึ้น ทำให้มีบ่อปลาเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่นกน้ำอื่นๆส่วนใหญ่ลดจำนวนลง กลุ่มที่กินปลาเป็นอาหารหลัก (piscivorous birds) อย่างนกกาน้ำ ดูจะไม่มีปัญหามากนัก ตรงกันข้าม ประชากรที่เคยถูกคุกคามจากการล่าอย่างเป็นล่ำเป็นสันกลับฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว